“มันเป็นเพราะสีผิวของผม ซึ่งผมทำอะไรกับมันไม่ได้ นี่มันมาจากบรรพบุรุษของผม” รูบิน คาร์เตอร์ กล่าว
ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นที่โจษจันในวงการมวยของโลกในยุค 60s ด้วยสถิติชนะ 27 ไฟต์จาก 40 ไฟต์ โดยเป็นการชนะน็อกถึง 19 ครั้ง จนได้รับฉายาว่า “เฮอร์ริเคน”
อย่างไรก็ดีค่ำคืนหนึ่งในปี 1966 เขากลับตกเป็นผู้ต้องหาในเหตุกราดยิง เนื่องจากพยานบอกว่าคนร้ายเป็นคนผิวดำ และทำให้เขาถูกจองจำเกือบ 20 ปี
เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น
วัยเด็กที่โลดโผน
รูบิน คาร์เตอร์ เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1937 ที่เมืองคลิฟตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ เขาเป็นลูกคนที่ 4 จาก 7 คนในครอบครัวคนผิวดำยากจนที่ย้ายมาจากรัฐจอร์เจียร์ รัฐทางใต้ ซึ่งมีปัญหาการเหยียดผิวอย่างหนัก
ลอยด์ พ่อของเขาเป็นคนขยันและเข้มงวดมาก เนื่องจากแม้จะมีงานหลักเป็นคนงานในโรงงานยางตอนกลางวันและส่งน้ำแข็งในช่วงเช้า แต่เขาก็มีงานเสริมเป็นผู้ช่วยบาทหลวงในโบสถ์
ความเข้มงวดของลอยด์เห็นได้จากสิ่งที่เขาปฏิบัติต่อลูกชาย ทั้งการให้มาช่วยงานตัดน้ำแข็งตั้งแต่ คาร์เตอร์ อายุ 8 ขวบ รวมทั้งจับลูกชายตัวเองส่งตำรวจ หลัง คาร์เตอร์ และเพื่อนไปขโมยของจากร้านเสื้อผ้าในเมืองแพตเตอร์สัน ตอนอายุ 9 ขวบ
แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความเฟี้ยวของ คาร์เตอร์ ลดลง และตอนอายุ 11 เขาก็ถูกจำคุกเป็นครั้งแรกหลังไปก่อเหตุแทงชายคนหนึ่งที่พยายามล่วงละเมิดทางเพศเขา ทำให้เขาถูกส่งไปควบคุมความประพฤติที่สถานพินิจสำหรับเด็กผู้ชายที่ชื่อว่า สเตท โฮม (คล้ายกับบ้านเมตตาของไทย) ที่เมืองเจมส์เบิร์ก
คาร์เตอร์ เล่าว่าที่เจมส์เบิร์กผู้คุมต่างข่มเหงและรังแกเขาสารพัด มีตั้งแต่ตบตีไปจนถึงทำร้ายร่างกาย เขาต้องทนอยู่อย่างนั้นอยู่ 6 ปี จนในที่สุดเขาก็ตัดสินใจหนีออกมาแล้วไปอยู่กับป้าที่ฟิลาเดลเฟีย ที่อยู่ห่างออกไปราว 50 ไมล์ รวมทั้งเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพในวัย 17 ปี (ที่สหรัฐฯ ยุคนั้นสมัครทหารได้ตั้งอายุ 17 ปี)
โชคดีที่ในยุคนั้นระบบข้อมูลยังไม่ได้เชื่อมโยงกันมากนัก ทำให้ไม่มีคนรู้เรื่องราวในอดีตของ คาร์เตอร์ เขากลายเป็นคนใหม่ในกองทัพ และได้สังกัดพลร่มกองบิน 101 ที่ได้ไปประจำการที่เยอรมัน ก่อนจะเริ่มต่อยมวยในตอนนั้น
“พวกเขาต่างแข็งแกร่ง ตรงไปตรงมา และทำงานหนักพอ ๆ กับต่อสู้อย่างหนักหน่วง” คาร์เตอร์ ย้อนความหลัง
“ที่นั่นไม่มีอะไรยุ่งยาก ไม่มีความตึงเครียด ไม่มีความกลัว”
จากนั้น คาร์เตอร์ ก็กลายนักมวยเด่นของกองทัพ ด้วยการเอาชนะคู่แข่งไปถึง 50 ครั้ง โดยเป็นการชนะน็อกถึง 35 ครั้ง และแพ้เพียง 5 ครั้ง จนก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ยุโรปในรุ่นไลท์เวตของกองทัพบก
ก่อนที่มันจะพาเขาไปสู่เส้นทางใหม่ของชีวิต
ยอดมวยจากลูกกรง
คาร์เตอร์ อยู่ในกองทัพไม่กี่ปีก็ถูกปลดประจำการ เมื่อดันไปก่อเหตุจนถูกขึ้นศาลทหารถึง 4 ครั้ง เขากลับมาอยู่ที่แพตเตอร์สันและได้งานเป็นคนขับรถหลังจากนั้น แต่ก็มาถูกจับจากคดีที่หลบหนีออกมาจากสถานพินิจและถูกส่งไปยัง แอนนาเดล รีฟอร์มาทอรี โรงเรียนดัดสันดานสำหรับผู้ต้องขังที่มีอายุ 18-30 ปี
เขาอยู่ในนั้นเพียง 10 เดือนก็ถูกปล่อยตัว แต่ก็มาถูกจับซ้ำสองในปี 1957 หลังจากพยายามวิ่งราวกระเป๋าผู้หญิงคนหนึ่ง และทำร้ายผู้ชายที่เข้ามาช่วย ครั้งนี้เขาถูกตัดสินให้จำคุก 4 ปีและถูกส่งไปที่เรือนจำเทรนตัน สเตท ซึ่งเป็นสถานจองจำของผู้ใหญ่
การถูกส่งเข้าคุกครั้งนี้ทำให้เขาเริ่มคิดได้และอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างจริงจัง ทำให้หลังพ้นโทษ คาร์เตอร์ ตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยสิ่งที่เขาเคยทำได้ดี นั่นคือการเป็นนักมวยอาชีพ
ไฟต์แรกของเขาได้ค่าตัวเพียง 20 เหรียญ (ราว 6,000 บาทเมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน) มันคือหนึ่งวันหลังออกจากเรือนจำ และ คาร์เตอร์ ก็ใช้เวลาเพียงแค่ 4 ยกเอาชนะคู่ต่อสู้ไปอย่างไม่ยากเย็น
“มันกลายเป็นองค์ประกอบในตัวผม การต่อสู้คือจังหวะการเต้นของหัวใจของผม และผมก็รักมัน” คาร์เตอร์
จากนั้นไม่นาน คาร์เตอร์ ก็ไต่เต้าขึ้นมาเป็นนักชกแถวหน้าของสหรัฐฯ แม้จะมีส่วนสูงเพียงแค่ 5 ฟุต 8 นิ้ว (172 เซนติเมตร) และหนักเพียง 155 ปอนด์ (กิโลกรัม) ซึ่งถือเป็นคนตัวเล็กแต่ก็ถูกทดแทนด้วยร่างกายที่กำยำและหมัดฮุกซ้ายที่ทรงพลัง จนได้รับฉายาว่า “เฮอร์ริเคน”
22 ไฟต์แรกเขาสามารถเอาชนะน็อกคู่ต่อสู้ไปถึง 14 ครั้ง หนึ่งในนั้นคือการเอาชนะ เอมิล กริฟฟิธ แชมป์โลกในรุ่นเฟเธอร์เวต ที่ลงมาต่อยในรุ่นมิดเดิลเวต และเคยขึ้นไปชิงแชมป์โลกรุ่นของตัวเองกับ โจอี จิอาร์เดลโญ ในปี 1964 หลังแพ้ไปอย่างเอกฉันท์
นอกจากนี้เขายังเป็นนักมวยที่ผู้คนให้ความสนใจ หลังโปรโมเตอร์เอาประวัติอาชญากรรมของเขามาเป็นจุดขาย โดยสื่อว่าเรือนจำคือสถานที่ที่หล่อหลอมให้ คาร์เตอร์ เป็นนักมวยที่น่ากลัว
บวกกับไลฟ์สไตล์ที่หวือหวา ทั้งการปรากฏกายในผ้าคลุมสีดำที่มีรูปเสือที่ปักด้วยด้ายสีทองอยู่ด้านหลังก่อนขึ้นชก หรือสวมสูทที่สั่งตัดโดยเฉพาะขณะเดินตามท้องถนน ทำให้เขาไม่ต่างซูเปอร์สตาร์คนหนึ่งของยุค
“เขามีหัวที่โกนเกลี้ยง หนวดที่โดดเด่น และการถลึงตาที่ไม่สั่นคลอน รูปร่างที่ไว้ใจได้ทำให้เขาปรากฏตัวได้อย่างน่าเกรงขามบนสังเวียนมาเป็น 10 ปี ก่อนที่รูปลักษณ์นั้นจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา” หอเกียรติยศของสมาคมมวยนิวเจอร์ซีย์บรรยายถึงเขาในตอนนั้น
อย่างไรก็ดีคืนหนึ่งในปี 1966 ก็เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
ผู้ต้องสงสัย “ผิวดำ”
มันเป็นวันที่ คาร์เตอร์ ไม่ทันตั้งตัว เมื่อคืนวันที่ 16 ต่อด้วยช่วงเช้ามืดของวันที่ 17 มิถุนายน 1966 ขณะที่เขาออกไปเที่ยวกลางคืนตามปกติห่างจากที่ที่เขาอยู่ออกไปครึ่งไมล์ กลับมีเหตุกราดยิงขึ้นในผับที่ชื่อ ลาฟาเยตต์ บาร์ แอนด์ กริลล์ ที่แพตเตอร์สัน
พยานในที่เกิดเหตุเล่าว่า ช่วงเวลา 2.30 น. ได้มีคนร้ายสองคนบุกเข้ามาในผับ ซึ่งเป็นที่พบปะสังสรรค์ของคนผิวขาวในเมือง ก่อนจะใช้ปืนลูกซองและปืนพกยิงใส่พนักงานและลูกค้าในร้าน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 2 คน และอีกคนได้รับบาดเจ็บสาหัส
“ผมอยู่ที่สำนักงานใหญ่ พวกเขาบอกว่าที่นั่นมีเหตุยิงกัน ผมคว้าปืนสองกระบอกแล้ววิ่งออกไป” จิมม์ ลอว์เลส ตำรวจผู้อยู่ในเหตุการณ์ย้อนความหลัง
“มันเหมือนกับโรงฆ่าสัตว์เลย”
ผู้รอดชีวิตบอกว่า คนร้ายเป็นคนผิวดำ และ 6 ชั่วโมงก่อนหน้านั้นห่างออกไป 5 ช่วงตึกเพิ่งจะมีเหตุคนขาวยิงคนดำในโรงแรมริมทาง ทำให้ตำรวจสันนิษฐานว่าแรงจูงใจในการก่อเหตุอาจจะเป็นการแก้แค้นจากคดีแรก
เนื่องจากในตอนนั้นแม้จะมีกฎหมายห้ามเลือกปฎิบัติออกมา แต่การแบ่งแยกสีผิวยังคงไม่หายไป เช่นกันกับที่เมืองแพตเตอร์สันที่มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน เห็นได้จากการมีร้านเหล้าสำหรับคนดำที่พวกเขาไปเป็นที่โรงแรมวอลซ์ อินน์ ส่วนคนผิวขาวก็คือโรงแรมลาฟาเยตต์ ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ
ด้วยเหตุนี้ทำให้หลังเกิดเหตุตำรวจได้ตั้งจุดตรวจเพื่อสกัดจับชายผิวดำตามคำให้การ และ คาร์เตอร์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนั้นเขาเพิ่งออกมาจากร้านเหล้ากับ จอห์น อาร์ติส คนรู้จัก และถูกเรียกตรวจเพราะรถของเขาคล้ายกับรถที่ฆาตกรใช้หลบหนีหลังก่อเหตุ
เขาถูกนำเข้าเครื่องจับเท็จและถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา เนื่องจากนอกจากเป็นคนผิวดำแล้วรูปพรรณสัณฐานของเขาและเพื่อนก็ไม่มีจุดไหนเลยที่ตรงกับคำให้การของพยาน
ตอนแรก คาร์เตอร์ นึกว่าจะไม่มีอะไร แต่หลังจากขึ้นชกไฟต์ที่ 40 กับ ฮวน คาร์ลอส ริเบโร นักชกชาวอาร์เจนตินา ที่โรซาริโอ ในวันที่ 6 สิงหาคม 1966 ไม่ถึง 2 เดือนต่อมา เขาและอาร์ติสก็ถูกออกหมายจับในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม
และมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ครั้งใหม่ที่อยู่นอกสังเวียนผ้าใบ
จองจำได้แค่หัวใจ
อันที่จริง คาร์เตอร์ เคยถูกเล่นงานเพราะสีผิวของเขามาก่อนหน้านี้แล้ว โดยในปี 1965 บทความหนึ่งในเขียนแสดงความเห็นว่าเขาน่าจะเป็นชายผิวดำที่ก่อเหตุยิงตำรวจในคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น
แม้ว่าเขาจะปฏิเสธในเรื่องนี้แต่ตำรวจก็ยังรังควานและคุกคามเขา ทั้งถูกจับเข้าคุกโดยไม่ตั้งข้อหา ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายรูปราวกับเป็นผู้ต้องหา หรือแม้กระทั่งมีประวัติอยู่ในแฟ้มผู้ต้องสงสัยของสำนักงานสอบสวนกลางหรือ
ทำให้แม้ว่าในการไต่สวนครั้งแรกเขาจะมีพยานถึง 3 คนแก้ต่างว่าเขาไม่ได้อยู่แถวนั้นตอนเกิดเหตุ แต่เขาก็ถูกตัดสินให้มีความผิดจากปากคำของ อัลเฟรด เบลโล และ อาเธอร์ แบรดลีย์ พยานผิวขาวที่อ้างว่าพบเห็นทั้งสองก่อนก่อเหตุ
เบลโล บอกว่าเขาเห็นทั้ง คาร์เตอร์ และ อาร์ติส ออกมาจากโรงแรมริมทางที่คนผิวดำถูกยิงพร้อมกับมีปืนในมือ ส่วน แบรดลีย์ เห็นแค่ คาร์เตอร์ เพียงคนเดียว และยืนยันว่าพวกเขาเห็นทั้งคู่อยู่แถวร้าน ลาฟาเยตต์ กริลล์ ขณะที่เกิดเหตุกราดยิง
จากคำให้การของพยานทำให้คณะลูกขุนที่ทั้งหมดเป็นคนขาวตัดสินว่า คาร์เตอร์ และ อาร์ติส มีความผิดฐานฆาตกรรม แต่ให้หลีกเลี่ยงการประหารชีวิต ก่อนที่ ซามูเอล ลาร์เนอร์ จะให้ คาร์เตอร์ จำคุกตลอดชีวิต 2 ครั้ง (ต้องได้รับการลดโทษ 2 ครั้งถึงจะพ้นโทษ) และ อาร์ติส จำคุกตลอดชีวิต 3 ครั้ง
พวกเขาพยายามยื่นอุทธรณ์แต่ไม่เป็นผล ก่อนที่ท้ายที่สุดศาลฎีกานิวเจอร์ซีย์จะยืนตามคำตัดสินเดิม ทำให้ คาร์เตอร์ เปลี่ยนสถานะจากยอดนักมวยมาเป็นนักโทษจากความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ
“ผมไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ ผมเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่น่าสลดใจมากมาย ทั้งการทำร้ายร่างกายและลักขโมย แต่ไม่ใช่การฆาตกรรม” รูบิน คาร์เตอร์ กล่าวใน หนังสืออัตชีวประวัติส่วนตัวของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 2011
คาร์เตอร์ บอกว่าสิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมน่าจะมาจากการที่เขาออกมาพูดเรื่องสิทธิของพลเมืองผิวดำและต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ เขายืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเองและจะสู้ต่อในเรือนจำ
วิธีของเขาคือการทำอารยะขัดขืน เขาปฏิเสธที่จะสวมชุดนักโทษและทำงานในเรือนจำ จนถูกลงโทษสั่งขังเดี่ยวหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่สนและทำต่อไป พร้อม ๆ ไปกับการอ่านหนังสือ ทั้งกฎหมาย ปรัชญา และศาสนา เป็นเครื่องประโลมจิตใจ
“พวกเขาคุมขังร่างกายผมได้ แต่ไม่มีวันกักขังจิตใจผมไว้ได้” คาร์เตอร์
นอกจากนี้การเป็นอดีตนักมวยชื่อดังและการไม่ยอมจำนนต่อการข่มเหงของผู้คุม ยังทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ในหมู่นักโทษ แถมยังเคยช่วยระงับเหตุจลาจลและช่วยชีวิตผู้คุมคนหนึ่งจากการโดยทำร้ายอีกด้วย
ทว่าเขาก็ยังต้องทนอยู่ในเรือนจำไปอีกเกือบ 10 ปี
รื้อคดีอีกครั้ง
ไม่เพียงแค่ คาร์เตอร์ เท่านั้นที่คลางแคลงใจต่อการพิจารณาคดี เมื่อผู้คนมากมายต่างกังขาในคำตัดสิน เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ระบุได้ว่า คาร์เตอร์ และ อาร์ติสต์ เป็นผู้ก่อเหตุ
เพราะคดีดังกล่าวไม่มีทั้งการเก็บหลักฐานลายนิ้วมือในที่เกิดเหตุหรือการเก็บปลอกกระสุน หรือแม้กระทั่งอาวุธสังหารก็ยังไม่มีใครเคยเห็น
“มันมีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องจริง ๆ เกิดอะไรขึ้นกับหลักฐานทางกายภาพ ทำไมพวกเขาไม่ตรวจสอบลายนิ้วมือ” ริชาร์ด คารูโซ อดีตนักสืบของเอสเซ็กซ์ หนึ่งในผู้คลี่คลายคดี
และเค้าลางของความไม่ถูกต้องก็เริ่มชัดขึ้นในปี 1974 เมื่อ เบลโล และ แบรดลีย์ พยานของคดีนี้บอกกับทนายของรัฐและ ว่าขอกลับคำให้การ โดยบอกว่าเขาถูกกดดันจากนักสืบให้บอกชื่อ คาร์เตอร์ และ อาร์ติส
เนื่องจากในตอนนั้นเขากำลังบุกเข้าไปในโรงงานแห่งหนึ่งแถวนั้นเพื่อขโมยของ แต่ก็มาถูกตำรวจจับได้เสียก่อน และอัยการก็สัญญาลับ ๆ กับพวกเขาว่าจะทำให้โทษของพวกเขาลดลงหากให้ความร่วมมือในคดีของคาร์เตอร์
แน่นอนหลังจากเรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกมาก็มีเสียงวิจารณ์อย่างหนาหู โดยเฉพาะ ที่อุทิศบทความหนึ่งหน้ากระดาษตำหนิการทำงานของตำรวจและอัยการที่ทำคดีนี้ในปี 1975 บ็อบ ดีแลน ศิลปินระดับตำนาน ยังได้แต่งเพลงที่ชื่อว่า “เฮอร์ริเคน” ที่บอกว่า คาร์เตอร์ เป็นผู้บริสุทธิ์
ในปีดังกล่าวยังมีการจัดคอนเสิร์ตหาทุนสู้คดีให้แก่อดีตยอดมวยคนนี้ ที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน และฮูสตัน แอสโตรโดม ที่นอกจาก ดีแลน แล้ว ยังมี โจนี มิตเชลล์, โจอัน บาเยซ และ โรแบร์ตา แฟลค เข้าร่วมในคอนเสิร์ตนี้
อย่างไรก็ดีน่าเศร้าที่การพิจารณาคดีครั้งที่ 2 ในปี 1976 ศาลยังคงตัดสินให้ คาร์เตอร์ และ อาร์ติส มีความผิด เพราะ เบลโล พลิกคำให้การอีกครั้ง โดยยืนยันว่าเขาเห็นจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ และพวกเขาต้องกลับไปนอนคุกเป็นหนที่ 2
แต่ คาร์เตอร์ ก็ไม่ยอมแพ้ เขายังคงสู้ต่อไปภายในเรือนจำ และใน 9 ปีต่อมาหลังจากคำอุทธรณ์ถูกปัดตกหลายครั้ง ศาลรัฐบาลกลางก็กลับคำพิพากษา โดยให้เหตุผลว่าคำพิพากษานี้ละเมิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาจากอคติทางเชื้อชาติ
“การตัดสินลงโทษอยู่บนการเหมารวมทางเชื้อชาติ ความกลัว และอคติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน” เอซ ลี ซาโกริน ผู้พิพากษารัฐบาลกลางระบุในปี 1985
“มันมากเกินไป ที่จะยอมให้การคล้อยตามยืนอยู่ในทางเดียวกับการแสวงหาการบรรเทาทุกข์”
และการตัดสินนั้นก็ทำให้ คาร์เตอร์ เป็นอิสระเสียที หลังถูกจองจำมา 19 ปี
ทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง
หลังจากถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ คาร์เตอร์ ย้ายไปอยู่ที่เมืองโตรอนโต และได้สัญชาติแคนาดา เขาก่อตั้งสมาคมป้องกันผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินอย่างผิด ๆ เพื่อช่วยเหลือคนที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับเขา
“เขาเป็นคนที่ค่อนข้างซับซ้อนแต่ก็สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนได้มาก เขาคือเสียงสะท้อนของคนที่ถูกตัดสินอย่างผิด ๆ ในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ทำ” วิน วาห์เรอร์ เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ
นอกจากนี้เขายังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนผิวดำมากมาย รวมถึง แบร์นาร์ด ฮอปกินส์ นักมวยระดับตำนาน อดีตเจ้าของเข็มขัดแชมป์โลกในในรุ่นมิดเดิลเวต ที่นับถือในความอดทนอดกลั้นของคาร์เตอร์มาตลอด 19 ปีในเรือนจำ
“นั่นเป็นวิธีการต่อสู้ที่ลึกซึ้งที่แสดงถึงการไม่ยอมแพ้ เป็นการต่อสู้ที่ละเอียดอ่อนเพื่ออิสรภาพ มันมีทางเลือกเสมอสำหรับสถานการณ์ที่จะไถ่ถอนความผิด” ฮอปกินส์
อย่างไรก็ดีแม้จะถูกพรากชีวิตและอนาคต แต่ คาร์เตอร์ ยืนยันเสมอว่าเขาไม่เคยโกรธหรือเกลียดคนที่ทำให้เขาต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ มันอาจจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไปแต่มันก็ทำให้เขาผ่านมันมาได้
“ความเกลียดชัง ความขมขื่น และความโกรธจะกัดกินแค่ภาชนะที่ใส่มันเอาไว้ มันไม่ได้ทำร้ายจิตใจคนอื่น” คาร์เตอร์ กล่าวกับ CNN เมื่อปี 2011
“ถ้าผมปล่อยให้ตัวเองโกรธแค้นและขมขื่นกับการตกเป็นเหยื่อ ผมคงจะไม่มีวันเอาตัวรอดมาได้ในคุก คุกสามารถจัดการกับความโกรธและความเกลียดชังได้ เพราะคุกคือที่รวมของทั้งหมดเหล่านี้ ดังนั้นผมจึงต้องก้าวข้ามมันให้ได้”
และมันก็ทำให้เขามีชีวิตอย่างไม่ทนทุกข์จนลมหายใจสุดท้าย หลังลาโลกไปเมื่อปี 2014
“มันไม่มีอะไรขมขื่น ถ้าผมขมขื่นหมายความว่าพวกเขาเป็นผู้ชนะ” คาร์เตอร์ กล่าวไว้เมื่อปี 1999